อันตรายจากไฟฟ้า

ไฟฟ้าเป็นแหล่งพลังงานที่จำเป็นในห้องปฏิบัติการ แต่ถ้าใช้ไม่ถูกต้องอาจก่อนให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สินได้ อันตรายที่เกิดขึ้นอาจเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร การใช้สายไฟผิดขนาด อุปกรณ์ไฟฟ้าชำรุด สายไฟชำรุด ใช้ไฟฟ้ามากเกินไปในเต้าเสียบเดียวกัน เปิดใช้ไฟฟ้านานเกินไปจนเกิดความร้อนสะสม ใช้ฟิวส์ผิดขนาด ใช้ไฟผิดประเภท ไม่ได้ต่อสายดิน ใช้ไฟขณะร่างกาย เปียกชื้น เป็นต้น อันตรายอันเนื่องจากไฟฟ้าส่วนใหญ่จะมีความรุนแรงมาก จึงต้องมีการระมัดระวังเป็นพิเศษ การแบ่งลักษณะของอันตรายที่อาจเกิดขึ้น มี 2 ลักษณะ ได้แก่ไฟฟ้าดูดกับ การเกิดเพลิงไหม้สำหรับอันตรายจากไฟฟ้าดูด เนื่องจากร่างกายไปแตะต้อง หรือต่อเข้ากับส่วนของวงจรไฟฟ้า ทำให้มีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านร่างกาย ถ้ากระแสไฟฟ้าไหลผ่านอวัยวะที่สำคัญ เช่น ศีรษะและ ทรวงอก อาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ หากมีปริมาณมากพอ ความสัมพันธ์ของกระแสไฟฟ้าและปฏิกิริยา การตอบสนองของร่างกายมีดังนี้

ปริมาณกระแสไฟฟ้า 
(มิลลิแอมแปร์)
อาการ
ต่ำกว่า 0.5 ยังไม่มีผลหรือไม่รู้สึก
0.5 - 2 รู้สึกจั๊กจี้หรือกระตุกเล็กน้อย
2 - 8 กระทบกระเทือนต่อระบบประสาท กล้ามเนื้อหดตัว เกิดอาการกระตุกปานกลาง หรือรุนแรงไม่ถึงขั้นอันตราย
8 - 20 กระทบกระเทือนต่อระบบประสาท เจ็บปวด กล้ามเนื้อเกร็งหดตัวอย่างรุนแรง บางคนไม่สามารถปล่อยมือหลุดออกได้
20 - 50 กระทบกระเทือนต่อระบบประสาท กล้ามเนื้อหดตัวอย่างรุนแรง ทำให้ปอดทำงานผิดปกติ ไม่สามารถปล่อยมือออกได้ มีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสมอง มีโอกาสเสียชีวิตในเวลาเพียง 2 - 3 นาที
50 - 100 กระทบกระเทือนต่อระบบประสาท หัวใจเต้นผิดปกติ หัวใจเต้นอ่อน หรือเต้นถี่รัว มีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสมอง ไม่สามารถปล่อยมือหลุดออกได้ มีโอกาศเสียชีวิตในเวลา 2 - 3 นาที
สูงกว่า 100 หัวใจหยุดเต้น ผิวหนังไหม้ หรือเนื้อเยื่อไหม้อย่างรุนแรง กล้ามเนื้อไม่ทำงาน

สำหรับอันตรายจากไฟไหม้ ไฟไหม้ที่เกิดจากไฟฟ้ามีสาเหตุ 2 ประการคือ ประกายไฟและความร้อนที่สูงผิดปกติ ทฤษฎีการเกิดเพลิงไหม้ มีองค์ประกอบ 3 อย่าง คือ เชื้อเพลิง แหล่งความร้อน และออกซิเจน ดังนั้น การป้องกันไฟไหม้ จึงต้องขจัดองค์ประกอบทั้ง 3 ดังกล่าว ประกายไฟที่เกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร หัวต่อหรือหัวขั้วสายไฟหลวมเกิดการเดินของกระแสไฟฟ้าไม่สม่ำเสมอ การspark จากการเดินไม่เรียบของกระแสไฟ ความร้อนสูงอาจเกิดจากการใช้ฟิวส์ไม่ถูกต้อง ขนาดไม่เหมาะสม หรือใช้สวิทซ์ตัดไฟอัตโนมัติไม่เหมาะสม กระแสไฟฟ้าไหลผ่านเครื่องใช้ไฟฟ้ามากเกินไป มอเตอร์ทำงานเกินกำลัง ต่ออุปกรณ์ไฟฟ้ามากเกินไปในเต้าเสียบเดียวกัน หรือแรงดันไฟฟ้าที่ขั้วมอเตอร์ไฟฟ้าต่ำเกินไป ล้วนเป็นสาเหตุหลักของการเกิดไฟไหม้ที่เกิดจากไฟฟ้าทั้งสิ้น

หลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้ไฟฟ้า                                                            

 

ควรเขียนคำเตือนไว้กับเครื่องมือ และอุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ รวมทั้งบริเวณซึ่งอาจมีอันตรายจากไฟฟ้าและห้ามนำอุปกรณ์ไฟฟ้าไปใช้ใกล้วัสดุไวไฟ

 

อุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิดในห้องปฏิบัติการ จะต้องต่อสายลงดินเสมอ เลือกใช้อุปกรณ์ที่ปลอดภัยได้มาตรฐาน

 

การต่อสายไฟฟ้า รวมทั้งการใช้ชนิด และขนาดของสายไฟฟ้า การติดตั้งสวิทซ์บอร์ด การติดตั้งปลั๊กเสียบ การใช้ฟิวส์ มอเตอร์ หม้อแปลงไฟฟ้า การต่อสายดิน และอุปกรณ์ทางไฟฟ้าอื่น ๆ จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักความปลอดภัย

 

ในที่มีไฟฟ้าแรงดันสูงควรจะปูพื้นห้องบริเวณนั้นด้วยฉนวน และไม่ควรปฏิบัติงานผู้เดียวในบริเวณนั้น

 

อนุญาตให้ผู้ที่มีความรู้และความชำนาญเท่านั้นทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้าได้

 

ต้องใช้เครี่องป้องกันอันตรายเสมอในการทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้า

 

มีการตรวจสอบสายไฟฟ้า อุปกรณ์ทางไฟฟ้า และเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ อยู่เสมอ เช่น ตรวจกลไกควบคุมการทำงาน สวิทซ์ รอยรั่วสายไฟ ปลั๊กหลวมหรือไม่ เป็นต้น ถ้าพบส่วนชำรุดหรือบกพร่องจะต้องรีบรายงานให้ผู้รับผิดชอบมาแก้ไขทันที และถ้าพบว่าเครื่องอุปกรณ์ใดในห้องปฏิบัติการอันใดร้อนเกินกว่าปกติ จะต้องรีบหยุดเครื่องและให้ผู้รับผิดชอบมาตรวจแก้ไข

 

อย่าใช้เครื่องมือในห้องปฏิบัติการ เกินขีดความสามารถที่ออกแบบหรือกำหนดไว้ เมื่อใช้งานเสร็จต้องนำเก็บเข้าที่เดิม

 

ระวังอย่าให้อุปกรณ์ที่ใช้ไฟฟ้าเปียกชื้น ในกรณีที่เครื่องเปียกน้ำ เช่น ฝนตก น้ำท่วม หรือน้ำกระเด็น จะต้องเช็ดให้แห้ง ถ้าจำเป็นอาจต้องย้ายเครื่องมือให้พ้นน้ำ ซึ่งในการปฏิบัติเช่นนี้ต้องถอดปลั๊กหรือปลดสวิทช์ตัดกระแสไฟฟ้าเสียก่อน

 

เมื่อตัวเปียกน้ำหรืออยู่ในบริเวณที่ชื้นแฉะ ห้ามอยู่ใกล้บริเวณที่มีกระแสไฟฟ้าหรือจับต้องเครื่องมือหรืออุปกรณ์ไฟฟ้า

 
 
 
 
Free Web Hosting